ธนากร

วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงนามความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ดังนี้


คณะเทคโนโลยี มมส ร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยในประเทศสิงคโปร์


ผู้บริหารคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชิตา มุ่งงาม คณบดี พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ บุญเที่ยง หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร พร้อมคณะ ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ทางด้านการจัดการหลักสูตร การพัฒนาผู้สอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และหารือเพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และแนวทางการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตระหว่างคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม National University of Singapore (NUS) และNanyang Technology University (NTU) ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 29 กรกฏาคม 2556 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2556 การดูงานที่ National University of Singapore (NUS) ได้เข้าเยี่ยม Yale NUS College 



โดยได้เข้าแลกเปลี่ยนในเรื่องการจัดการเรียนการสอน และเยี่ยมชมการจัดพื้นที่อำนวยความสะดวกสำหรับนิสิตของมหาวิทยาลัย และ ที่ Nanyang Technology University (NTU) ได้เข้าเยี่ยมชมที่ National Institute of Education โดยได้เข้าทดลองใช้เครื่องมือการเรียนรู้ด้วยตนเองด้านวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย และห้องเรียนรู้ต่างๆสำหรับนิสิต


มมส ร่วมลงนาม MOU ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ร่วมกับ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กับ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2556 เวลา 09.30 น. ณ ห้องนนทบุรี 1 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดย รองศาสตราจารย์เทียนศักดิ์ เมฆพรรณโอภาส รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาบุคลากรและกิจการสภามหาวิทยาลัย ผู้แทนรองศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับนายณรงค์ รัฐอมฤต เลขาธิการคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และอธิการบดี หรือผู้แทนของมหาวิทยาลัย สถาบัน นิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นสมาชิก ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กว่า 27 แห่ง

เพื่อส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่และประสานให้เกิดการเสริมสร้างทัศนคติ ค่านิยม ในความซื่อสัตย์สุจริตในมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการทุจริตในกลุ่มคณาจารย์ บุคลากร นิสิต นักศึกษา ตลอดจนนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัด และเสริมเสริมบทบาทในการเฝ้าระวังและมีส่วนร่วมในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ เพื่อให้มหาวิทยาลัย มีบทบาทในการส่งเสริมให้ทุหน่วยงานในสังกัดได้นำยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และดัชนีวัดคุณธรรมและความโปร่งใส ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไปประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรมแก่คณาจารย์ บุคลากร นิสิต นักศึกษา 

ตลอดจนนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัดให้กระบวนการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักคุณธรรม จริยธรรม ปราศจากการทุจริต โดยหลักการและรายละเอียดของความร่วมมือมีดังนี้
  1. ประสานงานและให้ความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการป้องกันการทุจริต
  2. เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยเฉพาะแนวทางการส่งเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรม แก่ คณาจารย์ บุคลากร ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมในการเผยแพร่รณรงค์ให้แก่ คณาจารย์ บุคลากร นิสิต นักศึกษา และนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัด ตลอดจนประชาชนทั่วไป เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อต้านการทุจริต และร่วมเป็นเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  3. สนับสนุนการศึกษาวิจัย รวบรวมองค์ความรู้ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา
  4. ร่วมมือในการจัดการทำดัชนีวัดคุณธรรมและความโปร่งใส สำหรับมหาวิทยาลัยและดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ ตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  5. ร่วมกันจัดทำช่องทางการสื่อสาร เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในฐานะเครือข่ายความร่วมมือป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  6. ร่วมให้คำปรึกษา เสนอแนะแนวทาง รวมถึงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานความร่วมมือดังกล่าว
  7. พัฒนาปรับปรุงหลักสูตรหรือกิจกรรมที่จะช่วยให้นิสิต นักศึกษา และนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัด มีทัศนคติค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริต และมีความรู้ความเข้าใจถึงผลกระทบจากการทุจริตที่ส่งผลเสียหายต่อประเทศ



วันที่  11 ก.ค.  เวลา 16.30 น.   ณ  ห้องประชุม 2 ชั้น 4 อาคารบรมราชกุมารี  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  โดยคณะพยาบาลศาสตร์  จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง คณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  กับ Hyogo University (มหาวิทยาลัยเฮียวโก) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้  โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย  สมัปปิโต  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  และ รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี  รุจกรกานต์  คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ลงนามร่วมกับ

ศาสตราจารย์ทากาโนริ  มิอุระ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเฮียวโก และศาสตราจารย์อิชิโร่ มิยาเกะ  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเฮียวโก)  สำหรับการลงนามในครั้งนี้  ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเฮียวโก คือ ศาสตราจารย์นิตตะ  ยูกิโกะ  และ นายอากิโนริ  มาซาฮิระ ได้ร่วมพบปะพูดคุยกับอธิการบดี  และคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์  มมส  เกี่ยวกับสาระสำคัญของการลงนามดังกล่าว  ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้ประสานความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการเรียนการสอนและการวิจัยในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนอาจารย์ และนิสิตของทั้งสองมหาวิทยาลัย ต่อไป..
เมืองมหาสารคาม เป็นเมืองตักสิลา เมืองแห่งการศึกษา แม้คนที่อยู่ในเรือนจำฯ ก็ชื่อว่าเป็นประชากรส่วนหนึ่งที่หลงผิด ควรที่จะได้ฟื้นฟู จัดการศึกษาให้ครบทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน จนถึงระดับอุดมศึกษา ให้เป็นเรือนจำตักสิลา เรือนจำการศึกษา
ที่ผ่านมาการจัดการศึกษา เรือนจำจังหวัดมหาสารคาม ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดมหาสารคาม จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประถม ม.ต้น ม.ปลาย หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดมหาสารคาม ได้เข้าไปจัดการศึกษาวิชาชีพระยะสั้นสาขาต่าง ๆ ให้ผู้ต้องขังมีวิชาชีพติดตัวไปเมื่อพ้นโทษ  รวมถึงการจัดการศึกษา ปวช.(เกษตรกรรม)  ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม
ปัจจุบันได้ขยายเครือข่ายพันธมิตรเพื่อให้สถานศึกษาที่สำคัญในเมืองมหาสารคาม เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา พัฒนาอาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีโครงการเปิดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา  สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตมหาสารคาม ได้จัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว มวยไทย มวยสากลสมัครเล่น ตลอดถึงวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม จัดการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) เอกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
                         เรือนจำจังหวัดมหาสารคาม ได้จัดทำพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการจัดการศึกษาดังกล่าวขึ้น ณ โรงแรมตักสิลา อ.เมืองมหาสารคาม เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2549 โดยมีนายนัทธี จิตสว่าง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธานการลงนามข้อตกลงร่วมกับ 3 สถาบันการศึกษา คือมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยท่านศาสตราจารย์นายแพทย์อดุลย์ วิริยเวชกุล ราชบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม,    สถาบันการพลศึกษาวิทยาลัยเขตมหาสารคาม โดยท่านปรีชา เผือกขวัญดี รองอธิการบดีสถาบันการพลศึกษาฯ  และท่าน ดร.จำลอง วรรณโคตร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม   มีหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ  ภาครัฐ เอกชน ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกันเป็นจำนวนมาก
                          สืบเนื่องจากการลงนามดังกล่าว นายกฤษณ์ วงษ์เวช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดมหาสารคาม  ได้ประสานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เพื่อดำเนินการจัดการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการเปิดสอนวิชาชีพดนตรีโปงลาง  การเปิดสอนวิชาชีพศิลปะการวาดภาพ  การเปิดสอนวิชาชีพการผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้าน และสินค้า OTOP ในรูปแบบดนตรีพื้นบ้าน จนเป็นรูปธรรม และได้รับวุฒิบัตรจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
                          ส่วนในด้านการดำเนินการเปิดการสอนปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ 4 ปี ของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ทางมหาวิทยาลัยได้พิจารณาดำเนินการตามความตกลงเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาส และยกระดับการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขัง  จนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2550  ได้มีการประชุมระหว่าง 2 หน่วยงาน โดยเรือนจำฯ มีผู้บัญชาการเรือนจำฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม  ที่ประชุมมีรศ.ดร.พิศมัย ศรีอำไพ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานในที่ประชุม  และมีเจ้าหน้าที่คณะอาจารย์จากวิทยาลัยการเมืองการปกครองเข้าร่วมประชุม  มีมติให้สามารถเปิดการเรียนการสอนปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ 4 ปี ได้ และให้เรือนจำฯส่งรายชื่อผู้ต้องขังที่จะสมัครเรียนเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารบุคคลของมหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียม ภาคเรียนละ 2,000 บาท ตลอดหลักสูตร ส่วนค่าหน่วยกิตลงทะเบียน นักศึกษาต้องชำระตามระเบียบของมหาวิทยาลัย

                          ในด้านของเรือนจำฯ ได้เตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นสื่อการเรียนการสอน โต๊ะเก้าอี้ ห้องเรียน เครื่องโปรเจคเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา  เพื่อรองรับการเปิดเรียนอย่างเป็นทางการ ตลอดถึงมีมาตรการในการรักษาความปลอดภัย การทำรั้วในแดนการศึกษา และจัดทำรั้วตลอดแนวทางเดินเข้า ออกของคณาจารย์  เพื่อสร้างความมั่นใจกับบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่จะเข้าไปทำการสอน จากการดำเนินการดังกล่าว มีผู้ต้องขังที่มีความสนใจสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก แต่เรือนจำฯ ได้คัดเลือกผู้ที่มีความประพฤติดี สามารถชำระค่าใช้จ่ายในบางส่วนได้ จำนวน 18 คน และมีเจ้าหน้าที่เข้าศึกษาต่อร่วมด้วย จำนวน 17 นาย  โดยมหาวิทยาลัยได้กำหนดทำการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ประจำภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 ในวันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2550 นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีในการดำเนินการจัดการศึกษาแก่ผู้ต้องขังโดยมหาวิทยาลัยระบบปิดแห่งแรก  และเป็นเรือนจำฯ แห่งแรกที่ดำเนินการเปิดโอกาสทางด้านการศึกษาให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำฯ ถือได้ว่ามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เห็นความสำคัญของการให้โอกาสแก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสที่จะยกระดับการศึกษา ให้ประชาชนอีกกลุ่มในเมืองมหาสารคาม ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์พร้อมที่เป็นพลดีมีประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคต 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น