ธนากร

วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว



มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สร้างความภาคภูมิใจในการได้รับการจัดอันดับ การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับที่ 4 ของประเทศ  และอันดับที่  126  ของโลก จากการจัดอันดับของ UI GreenMetric World University Ranking 2011  เป็นการจัดอันดับการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่เข้าร่วม  โดยใช้ตัวชี้วัดหลักที่แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาระบบการจัดการและการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานที่คำนึงถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย  สมัปปิโต  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เปิดเผยถึงการได้รับการจัดอันดับในครั้งนี้ว่า  สำหรับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็น มหาวิทยาลัยสีเขียว อันดับที่ 4 ของประเทศ และอันดับที่  126 ของโลกนั้น   ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง  เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้มีนโยบาย  วางเป้าหมายการดำเนินการของมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน ในการมุ่งสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) โดยเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา  ได้มีการจัดระบบบริหารจัดการด้านพลังงานสิ่งแวดล้อม    ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย  ให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างมีคุณภาพและบูรณาการระบบเหล่านั้น  ให้เข้ากับการดำเนินการทุกด้านของมหาวิทยาลัย  ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงพัฒนาภูมิทัศน์มหาวิทยาลัย ด้านการอนุรักษ์พลังงาน การรักษาความปลอดภัย การดำเนินการเกี่ยวกับการจราจรมหาวิทยาลัย การจัดการของเสีย และการจัดการขยะมูลฝอยแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (Integrated Solid Waste Management : Mahasarakham University)
   นอกจากนี้  การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว  การเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยการปลูกหญ้า  ปลูกต้นไม้  ระบบพาหนะเดินทางในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ก็ได้นำรถรางประหยัดพลังงานมาบริการบุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ซึ่งได้รับการตอบรับและร่วมมือเป็นอย่างดี   และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน อีกทั้งเป็นต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน ได้นำไปประยุกต์ให้เกิดผลดีต่อสภาพแวดล้อม ตลอดจนชุมชนและอุตสาหกรรมที่อยู่รอบข้างมหาวิทยาลัยและก่อให้เกิดผลดีต่อสภาพแวดล้อมของประเทศโดยรวม”

   การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยทั่วโลกโดย UI Green Metric Ranking of World Universities 2011 จัดโดย University of Indonesia หรือ UI เป็นกลไกเพื่อส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกได้จัดทำนโยบายและจัดระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยให้เกิดความยั่งยืนและเอื้อต่อการลดผลกระทบที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนโดยคำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงาน การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานทดแทน   

   ซึ่งเกณฑ์การตัดสินได้คำนึงถึงการจัดทำนโยบาย การพัฒนาระบบการจัดการ กิจกรรมการส่งเสริมให้เกิดการรับรู้และการนำระบบไปสู่การปฏิบัติให้ครบถ้วนภายในมหาวิทยาลัย  มีเกณฑ์การให้คะแนน 5 ด้าน คือ 1) สถานที่ตั้งและระบบสาธารณูปโภค 2) การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแ​ปลงภูมิอากาศ 3) การจัดการขยะ 4) การใช้น้ำ และ 5) การจัดการระบบขนส่ง มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการจัดอันดับ 178 แห่ง จาก 47 ประเทศ มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม (University of Nottingham) ประเทศอังกฤษ ได้รับการประกาศให้เป็นมหาวิทยา​ลัยสีเขียวอันดับ 1 ของโลก ขณะที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว​ อันดับที่ 126 ของโลก และเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย มีมหาวิทยาลัยของไทย อีก 5 แห่ง ได้รับรางวัล ได้แก่ อันดับ 46 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับ 47มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อันดับ 70 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับ 141 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ อันดับ 151 มหาวิทยาลัยบูรพา    นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีความมุ่งมั่นที่จะมุ่งสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวและมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย  สมัปปิโต  กล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวนั้น  เป็นผลจากหลายประเด็นประกอบกัน ทั้งข้อมูลที่ส่งไป เรื่องนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงาน การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว รวมทั้งนโยบายและมาตรการของมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง  จึงทำให้มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับในครั้งนี้ และสิ่งที่สำคัญที่สุด  ก็เพราะความร่วมมือร่วมใจของชาวมหาวิทยาลัยมหาสารคามทุกคน ที่มีส่วนร่วมผลักดันกิจกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะทำให้มหาวิทยาลัยมีสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้ว ยังทำให้ได้รับรางวัลซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ทุกคนอีกด้วย ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนิสิตทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาสภาพพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  จนเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากลในครั้งนี้ และเราจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นและยั่งยืนต่อไป”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น